cyber bullying

การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ (Cyber bullying)

การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ (Cyber bullying)

      การหยอกล้อแกล้งกันของเด็กๆ หรือแม้แต่เพื่อนฝูงที่เป็นผู้ใหญ่นั้นมีมานานแล้ว ล้อชื่อพ่อแม่ ล้อรูปร่างหน้าตา บุคลิก เช่น อ้วน ผอม ดำ เหยิน เหล่ จืด หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้มาบ้าง ปัจจุบันการหยอกล้อเกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ด้วย แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่าเดิมมาก จากการหยอกล้อขำๆ ลุกลามบานปลายกลายเป็นการกลั่นแกล้งรังแก ทำซ้ำๆ ต่อเนื่อง กระจายในวงกว้าง ทำให้เหยื่ออับอาย เสียหาย กังวล เสียใจ หดหู่ เครียด ทำร้ายตัวเอง บางรายถึงกับคิดฆ่าตัวตาย

      การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ หรือ Cyber bullying เป็นการทำร้ายกันทางความรู้สึกหรือจิตใจ เช่น การโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิปวิดีโอเพื่อด่าทอ ส่อเสียด ประจาน แฉ โจมตี ข่มขู่ หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย เสียใจ หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเมื่อมีการส่งต่อ การตอบโต้กันไปมาโดยมีคนโลกไซเบอร์มาผสมโรงด้วยความคิดความเชื่อหรือความเห็นของตัวเอง เป็นการกระทำซ้ำๆ ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วเลิก ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการใส่ร้าย เช่น สร้างบัญชีปลอมแล้วเอาภาพเหยื่อมาทำเป็นโปรไฟล์แล้วไปโพสต์ด่าคนอื่น ทำให้สังคมเชื่อว่าเหยื่อเป็นคนไม่ดี การตัดต่อคลิปหรือภาพเหยื่อให้ขำหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง การนำความลับหรือภาพลับมาเปิดเผยแล้วแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง การสร้างกลุ่มหรือเพจต่อต้านคนที่ตัวเองไม่ชอบ โดยแอบถ่ายภาพทุกอิริยาบทเอามาจับผิด เอามาถกกันให้เกิดความเสียหาย การโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจ หรือกีดกันให้ออกจากกลุ่มออกจากสังคมที่อยู่ เป็นต้น คนที่ทำส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ผิดใจกัน อิจฉากัน หรือเคยเป็นแฟนกันมาก่อน

      เด็กหลายคนที่โดนกลั่นแกล้งรังแกมักไม่กล้าบอกพ่อแม่หรือครู เพราะกลัวจะถูกซ้ำเติม สมน้ำหน้า หรือไม่ได้รับความสนใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของเด็กหยอกล้อกันไปมาไม่นานก็เลิก แต่ในความเป็นจริงแล้วผลที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าที่คิด บางครั้งเด็กกลัวพ่อแม่ริบโทรศัพท์มือถือ ห้ามใช้อินเทอร์เน็ต จึงเก็บปัญหานั้นไว้คนเดียว ทำให้เกิดความกังวล เครียด ปิดตัวเองมากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นโรคซึมเศร้า หดหู่ ไม่อยากอยู่หรือไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป

      พ่อแม่จึงควรทำใจเย็นๆ รับฟังด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ บอกลูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของเขา ให้ลูกเข้มแข็ง อดทน อย่าไปให้ความสนใจมากเพราะยิ่งทำให้คนแกล้งสนุกและทำต่อไปเรื่อยๆ ช่วยลูกแก้ไขปัญหา เช่น ปิด block เพื่อนที่แกล้ง ลบข้อความหรือภาพที่โดนตัดต่อ ขอความช่วยเหลือจากครูหรือเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ก่อนหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้ลูกก็ต้องสอนให้เข้าใจว่ามีภัยอันตรายอะไรบ้างบนโลกไซเบอร์ เช่น การรับเพื่อนใหม่ การพูดคุยกับเพื่อน การโพสต์ข้อมูลหรือภาพส่วนตัวมากเกินไป ควรสอนให้ลูกรู้จักการตั้งค่าความปลอดภัยในการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ใน Facebookสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ใครมาโพสต์อะไรบนพื้นที่ของเรา หรือจะให้ใครเห็นโพสต์ของเราได้บ้าง ในโรงเรียน ครูควรสอนทักษะรู้เท่าทันสื่อให้เด็กๆ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ข่าวสารข้อมูลที่รับมาต้องฉุกคิดเสียก่อนว่าหากไม่ใช่เรื่องจริงแล้วส่งต่อกันไปจะเป็นการให้ร้ายหรือละเมิดซ้ำเหยื่อหรือไม่

      ในส่วนของผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ควรมีกฎกติกาเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกกันบนพื้นที่ให้บริการของตน โดยประกาศชัดเจนว่าห้ามทำและมีมาตรการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน ควรมีปุ่มรับแจ้งหรือรายงานกรณีถูกกลั่นแกล้งรังแกเพื่อให้เด็กขอความช่วยเหลือในการลบเนื้อหาที่ทำให้อับอายหรือเสื่อมเสีย จัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจและความเสียหายของเหยื่อ ประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาล ดำเนินการกับผู้กลั่นแกล้งรวมถึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือหน่วยงานอื่นๆ หากจำเป็น
 

บทความโดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย