จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เราอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. ภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แถลงผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ปี 2561พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานถึง 10 ชั่วโมง 5นาทีต่อวัน โดย Gen Y (อายุ 18-37 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด 10 ชั่วโมง 22 นาทีต่อวัน ถือว่าสูงจนน่าตกใจ
การใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์มาก ทำให้เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศปริมาณมหาศาล ทั้งเนื้อหาที่เป็นสีขาว สีเทา และสีดำ เป็นการยากที่เด็กจะแยกแยะเลือกสรรเนื้อหาที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กดังนั้น ผู้ที่ทำงานด้านการปกป้องสิทธิเด็กหรือผู้ที่มีความห่วงใยปรารถนาดีต่อเด็ก จึงขอเสนอแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นมิตรต่อเด็ก (Child Friendly Website) ดังนี้
การออกแบบเว็บไซต์
ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์ว่าเป็นเด็กช่วงอายุเท่าใด เนื่องจากช่วงอายุเด็กมักจะสัมพันธ์กับการออกแบบเว็บไซต์ด้วย เช่น เด็กเล็ก จะถูกดึงดูดด้วยสีสัน กราฟฟิก ภาพขยับเคลื่อนไหว เด็กที่โตขึ้นจะเริ่มสนใจกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องการมีส่วนร่วมมากกว่าการนั่งดูเฉยๆ เด็กโตชอบภาพ วิดีโอ และข้อมูลเจาะลึกตามความสนใจ สามารถสืบค้น มีลิ้งค์เชื่อมโยงไปภายนอกเว็บไซต์ได้ ผู้พัฒนาเว็บไซต์จึงควรปราณีตในการออกแบบและคัดเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับช่วงวัยของกลุ่มเป้าหมาย
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความกังวลได้แก่ความปลอดภัยในการเข้าใช้เว็บไซต์ของบุตรหลาน นอกจากเรื่องเนื้อหาบนเว็บไซต์ต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กแล้ว ยังควรมีการปกป้องคุ้มครองเด็ก ข้อมูลของเด็ก และความเป็นส่วนตัวของเด็ก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี เนื้อหาที่เป็นอันตราย ตลอดจนสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กด้วย
- เว็บไซต์ต้องมีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ครอบคลุมตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของเด็กจะต้องขออนุญาตพ่อแม่ผู้ปกครองเสียก่อน สามารถอ่านทบทวนหรือลบข้อมูลของเด็กออกจากเว็บไซต์ได้หากเห็นว่ามากเกินไปหรือไม่เหมาะสม สามารถเลือกได้ว่าจะให้เว็บไซต์แชร์ข้อมูลของเด็กไปยังบุคคลที่สามหรือไม่ พ่อแม่ผู้ปกครองมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะให้เว็บไซต์เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวเพิ่มเติมจากเด็กได้อีกหรือไม่ อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะต้องประกาศไว้อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์
- เว็บไซต์ต้องมีนโยบายไม่ให้ระบุตัวตนของเด็ก ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม
- เว็บไซต์จะต้องหมั่นตรวจสอบลิ้งค์ที่เชื่อมโยงไปภายนอกเว็บไซต์ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าไม่มีลิ้งค์ใดนำเด็กไปสู่เนื้อหาข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย เช่น ความรุนแรง เรื่องเพศ การพนัน สารเสพติด โฆษณาสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ ฯลฯ
- เว็บไซต์ควรมีมุมหรือพื้นที่ให้ข้อมูลกับพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับเว็บไซต์เองว่ามีเนื้อหาสาระหรือกิจกรรมแบบใด วิธีการใช้งานเว็บไซต์ แผนที่แสดงส่วนต่างๆ บนเว็บไซต์ หรือปุ่มขอรับคำแนะนำช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัย
- เว็บไซต์ควรมีช่องทางการติดต่อในกรณีที่เด็กต้องการความช่วยเหลือหรือถูกละเมิด โดยการทำปุ่มคลิกแจ้ง อีเมล ไลน์ไอดี หรือหมายเลขโทรศัพท์ต่างๆ และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตอบสนองอย่างรวดเร็วทันการณ์ พร้อมทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องทันทีหากมีความจำเป็น
- เงื่อนไขในการใช้งานเว็บไซต์
- ควรมีข้อตกลงระหว่างผู้ใช้งานและทางเว็บไซต์ว่าสิ่งใดอนุญาตให้ทำได้หรือยอมรับได้ สิ่งใดไม่อนุญาตให้ทำหรือยอมรับไม่ได้บนเว็บไซต์แห่งนี้
- ควรระบุเรื่องการนำเนื้อหาข้อมูล ภาพ หรือสิ่งใดๆ บนเว็บไซต์ไปใช้ ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
- ควรระบุขอบเขตความรับผิดชอบต่อเนื้อหาข้อมูลที่ลิ้งค์ออกไปภายนอกเว็บไซต์ว่าส่วนใดที่รับผิดชอบหรือควบคุมได้ สิ่งใดอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบหรือการควบคุม ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับเด็กและดูแลเด็กในการใช้งาน
หากเว็บไซต์ที่ลูกใช้งานเป็นเว็บไซต์ที่เป็นมิตรต่อเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะอุ่นใจมากขึ้น การที่ข้อมูลของเด็กจะรั่วไหลไปสู่มิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดี การที่เด็กจะถูกละเมิด ล่อลวง หรือเข้าสู่เนื้อหาที่เป็นอันตราย ก็จะลดน้อยลง เกิดสังคมอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขอเชิญชวนพวกเรามาช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริม และเรียกร้องให้เว็บไซต์มีมาตรฐานที่ปลอดภัยต่อเด็กๆ กันนะคะ สำหรับท่านใดที่มีข้อแนะนำหรือข้อเสนอเพิ่มเติม สามารถติดต่อมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่อีเมล [email protected] โดยอ้างอิงบทความนี้ จะขอบคุณอย่างสูงค่ะ
บทความโดย: มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย