ช่วยกันคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์
เด็กทุกคนที่เกิดมาล้วนต้องการความรักและความใส่ใจดูแลจากพ่อแม่ เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ได้รับการพัฒนา ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตรายหรือสิ่งไม่ดีต่างๆ รวมทั้งมีสิทธิในการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในเรื่องที่พวกเขาเกี่ยวข้อง
รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญากับนานาประเทศว่าจะกระทำทุกวิถีทางในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงหรือการละเมิดเด็กทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การเฆี่ยนตี ความรุนแรงทางวาจาและอารมณ์ เช่น การด่าทอ เปรียบเทียบ ทำให้รู้สึกด้อยค่า ทำให้หวาดกลัว ความรุนแรงทางเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา หรือบังคับให้เด็กมีกิจกรรมทางเพศ การทอดทิ้งเด็กไม่ให้ได้รับอาหาร เสื้อผ้า การรักษาเมื่อเจ็บป่วย การศึกษา ถือเป็นการละเมิดเด็กเช่นกัน การปกป้องคุ้มครองเด็กเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน
องค์กรต่างๆ ควรมีนโยบายคุ้มครองเด็ก(Child Protection Policy) เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็ก ไม่ละเมิดหรือกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และช่วยกันสอดส่องดูแล คุ้มครองเด็กไม่ให้ถูกกระทำทารุณหรือแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบ เมื่อพบเหตุการณ์การละเมิดเด็ก จะต้องประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือ เก็บรวบรวมข้อมูลในรายละเอียด เขียนรายงานเกี่ยวกับการละเมิด และรายงานไปยังบุคคลหรือองค์กรรับผิดชอบเพื่อให้ความช่วยเหลือ การรายงานมีตั้งแต่การรายงานทางวาจา ไปจนถึงการเขียนเป็นเอกสาร รายงานต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ หรือองค์กรพัฒนาสังคมที่ทำงานด้านการปกป้องสิทธิเด็ก เช่น
- สถานีตำรวจ หรือ โทร.191
- สายด่วนช่วยเหลือเด็ก ศูนย์ประชาบดี หมายเลข 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- บ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 02-412 0739 , 02-412 1196 , 02-864 1421
- มูลนิธิสายเด็ก โทร. 1387
- หรือ ถ้าเป็นกรณีออนไลน์ แจ้งที่ ไทยฮอตไลน์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โทร. 02-438 3559 เว็บไซต์ www.thaihotline.org อีเมล [email protected]
การสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ต้องสอนว่าเขาไม่ได้อยู่เดียวดายในโลก ยังมีความช่วยเหลือ มีคนที่พร้อมจะให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือเมื่อเขาถูกละเมิด ให้เขานึกชื่อผู้ใหญ่ที่เขาไว้ใจสัก 2-3คนเอาไว้เมื่อเกิดเหตุจะได้รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือจากใคร ต้องย้ำว่าสิ่งไม่ดีอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของเขา อย่าโทษตัวเอง เด็กเป็นเหยื่อที่จะต้องได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ สอนเด็กให้กล้าที่จะปฏิเสธหากไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเมื่อเขารู้สึกไม่ชอบมาพากล(SAY NO!)ต้องรีบหนีออกจากสถานการณ์อันตรายนั้น (GO)และบอกพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ (TELL)
มีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ เนื่องจากไว้ใจเพื่อน chat ที่ขอคุยส่วนตัวโดยต่างฝ่ายต่างเปิดกล้องถ่ายทอดสดการกระทำทางเพศ เข้าใจว่าเป็นเรื่องสนุกส่วนตัว ไม่ทันระวังจึงถูกอัดคลิปวิดีโอข่มขู่เรียกเงิน เด็กที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความอับอายจากการที่คลิปถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนเผยแพร่ไปในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเรียนและการทำงาน จิตใจกังวล หดหู่ เกิดความเครียดมากจนบางรายคิดสั้นฆ่าตัวตาย เด็กโทษตัวเอง อับอาย และไม่กล้าแจ้งความ ในกรณีเช่นนี้ เพื่อนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ เมื่อคลิปหลุดไปในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ต้องทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเราไม่มีทางตามลบคลิปได้หมดเนื่องจากมีคนsave เก็บไว้และพร้อมจะนำกลับขึ้นมาได้เสมอ จึงไม่ควรเชื่อคำขู่ยอมให้เงินเพราะจะโดนขู่อยู่ร่ำไป ให้เด็ก block การสนทนา รวบรวมหลักฐานส่งแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพราะการครองครอง การผลิต การเผยแพร่ และทำการค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก มีความผิดตามกฎหมายไทย
ในส่วนของตัวพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องตระหนักถึงสิทธิเด็กและไม่ละเมิดเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลหรือเรื่องส่วนตัวของลูกมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ลูกอาจไม่ชอบ การถ่ายภาพลูกในลักษณะขบขัน น่าอาย อาจทำให้เด็กโดนล้อเลียน ภาพเด็กอาจถูกนำไปใช้ส่วนตัวโดยพวกที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็ก อาจทำให้เด็กตกเป็นเป้าของพวกค้ามนุษย์
ช่วยกันดูแลเด็กๆ บนโลกออนไลน์ โดยเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิเด็ก ปกป้องคุ้มครองเด็ก ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก โดยเริ่มจากลูกๆ ของเราเอง นะคะ
บทความ โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย