งานแถลงข่าวโครงการ Speed Test 2553

5183417437_7fc4031c80

แถลงข่าว เปิดตัวบริการใหม่ SpeedTest 2010
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13.00 น. – 16.00 น.
ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

 

ตามที่ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ร่วมมือกับ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. จัดทำโครงการ “สำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต” หรือ SpeedTest โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการของผู้ประกอบการ ด้านความเร็วที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยได้เปิดให้ผู้ใช้เข้าไปทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์หลัก www.speedtest.or.th และ เว็บไซต์ชั้นนำอีกหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการ เช่น Kapook.com, Pantip.com, Dek-d.com ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้สนใจเข้าใช้งาน SpeedTest เป็นจำนวนมาก คือตั้งแต่วันที่ 1 มค. – 12 พย. 2553 มีจำนวนการเข้าทดสอบมากถึง 4,736,022 ครั้ง
หากคิดเพียงครึ่งปีบริการ (มค. – มิย. 2553) มีจำนวนการเข้าทดสอบ SpeedTest 2,686,896 ครั้ง หรือเฉลี่ย 14,845 ครั้ง/วัน (181 วัน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อน คือ 13,006 ครั้ง/วัน สำหรับจำนวนครั้งการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้ใช้จาก TRUE (720,064 ครั้ง) ตามด้วยผู้ใช้จาก TOT (718,263 ครั้ง) และ 3BB (436,962 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เข้าทดสอบ SpeedTest มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ (483,764 ครั้ง) รองลงมาคือ จังหวัดชลบุรี (66,165 ครั้ง) และน้อยที่สุดคือ จังหวัดอำนาจเจริญ (2,066 ครั้ง) ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางโครงการฯ ที่จะต้องประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มตัวเลขการเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตและลดความเบี่ยงเบนของข้อมูล
สำหรับคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตในครึ่งปีแรก พบว่า ในภาพรวมของประเทศมีความเร็วดาวน์โหลดอยู่ที่ 70% และมีความเร็วอัพโหลดเพียง 11% ซึ่งความเร็วดาวน์โหลดและความเร็วอัพโหลดดังกล่าว คิดเทียบกับความเร็วดาวน์โหลดที่ผู้ใช้ซื้อบริการ จากจำนวนการทดสอบ 1,013,275 ครั้ง

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ใช้มีการกระจุกตัวอยู่ที่บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2-4 Mbps ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 2Mbps เข้าทดสอบ SpeedTest 133,122 ครั้ง (5%) ผู้ใช้ 3Mbps เข้าทดสอบรวม 312,732 ครั้ง (12%) และผู้ใช้งานความเร็ว 4Mbps เข้าทดสอบรวม 490,116 ครั้ง (18%) และมีมากถึง 1,429,698 ครั้ง (53%) ของการทดสอบที่ไม่ระบุความเร็ว ซึ่งอาจมาจากปัญหาผู้ใช้ไม่ทราบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตนซื้อบริการ หรือไม่ร่วมมือในการกรอกข้อมูลการทดสอบ SpeedTest ทางโครงการฯ จำเป็นจะต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับสาธารณชนถึงความจำเป็นในการทราบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตนซื้อบริการเพื่อการรักษาสิทธิ และให้ความร่วมมือในการกรอกข้อมูลก่อนการทดสอบ SpeedTest ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตในภาพรวมของประเทศถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงน้อยที่สุด สามารถนำผลการศึกษามาใช้อ้างอิงเพื่อการผลักดันการปรับปรุงคุณภาพและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้ประกอบการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ก็จะย้อนกลับมาสู่ผู้ใช้ทุกคนนั่นเอง

 

สำหรับบริการใหม่ๆ ของ SpeedTest 2010 ได้แก่ ระบบสมาชิก และการรายงานประวัติการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตของสมาชิก ซึ่งนอกจากจะแสดงผลการทดสอบของตนเองในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของตน ยังสามารถแสดงผลเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการหลัก 3 รายในจังหวัดเดียวกันได้ด้วย สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้สมัครสมาชิก สามารถเรียกดูความเร็วอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของตน และผู้ให้บริการหลัก 3 รายในจังหวัดของตนได้ด้วยเช่นเดียวกันSpeedTest 2010 จะมีการเพิ่มจำนวน Server ไปติดตั้งไว้ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด 30 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดที่แม่นยำยิ่งขึ้น มีการขยายบริการผ่าน Google Chrome ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ผู้ใช้สามารถทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ซึ่งทางโครงการฯ จะได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตและบริการใหม่ๆ ดังกล่าวแล้ว ผ่านทางเว็บไซต์ สื่อมวลชน การแถลงข่าวความก้าวหน้าของโครงการฯ รวมถึงการจัดอบรมสัมมนาอีก 2 ครั้ง ที่จะเกิดขึ้นตลอดเดือน มค.-มิย. 2554

โครงการ SpeedTest เป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดระยะเวลาปีเศษที่ได้ดำเนินการมานั้น นำมาซึ่งผลกระทบในด้านดีต่อวงการอินเทอร์เน็ตไทย ดังจะเห็นได้จาก ความตื่นตัวของผู้ใช้ในการเข้ามาทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น แนวโน้มของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีคุณภาพมากขึ้น การหารือด้านความร่วมมือ การวางแผน และการแก้ปัญหาเพื่อการปรับปรุงคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตระหว่างผู้ให้บริการ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และ สบท. ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการปรับปรุงคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต และบริการด้านโทรคมนาคมอื่นๆ ที่อาจจะมีขึ้นอีกต่อไปในอนาคต